บวชจิตมีอานิสงส์สูงมากจัดเป็นเนกขัมมบารมีขั้นอุกฤษฏ์เลยทีเดียว
“การบวชจิต” หรือ “การบวชใน” นั้นเป็นสูตรของ “หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ”
หลวงปู่ดู่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า…
“การบวชทั้งในและนอกมันลำบากในยุคนี้
เราบวชใน คนไม่รู้ … แต่ผีรู้ เทวดารู้
การบวชในเป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง เวลาทำบุญให้นึกว่าตัวเองเป็นพระ…จะได้ชิน ถ้าทำบ่อยๆ จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
เวลาทำความดีอะไรก็ตาม…ให้นึกว่าตัวเองเป็นพระ มันจะปรับออกมาข้างนอกเอง เป็นการบวชจากข้างในไปหาข้างนอก คือ ด้วยรูปลักษณ์ในการบวชที่เป็นพระนั้น พอเราบวชแล้ว เราจะไม่กล้าทำอะไรที่ไม่ดี เวลาเราแผ่บุญออกไป พลังงานก็ผ่านเราออกไปได้มากกว่า
พลังงานนี้จะผ่านพระได้มากกว่าฆราวาสนะ… ลองคิดดูสิ เราเป็นพระนะ (บวชใน) แค่เรานึกนี่ก็เป็นแล้ว ทำไม่เกินสามปีจะรู้สึกว่าเราเป็นพระ เรื่องอะไรที่ไม่ดี เราจะไม่พูด ไม่ทำ แม้แต่ในฝันยังเป็นพระเลย
บวชจิตแล้วต้องสึกไหม…ไม่ต้อง มันไม่เกี่ยวกัน เรื่องโลกกับเรื่องธรรมเป็นคนละเรื่อง เวลาอยู่ทางโลกก็อยู่ไป เมื่อไรอยู่ทางธรรมเราก็บวชใน
ตื่นขึ้นมาก็ให้ทำ แล้วกราบพระ ๖ ครั้ง แล้วทำวัตรสั้นๆ อาราธนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่องค์ปฐมถึงองค์ปัจจุบัน เวลากินข้าว อาบน้ำ เวลาว่าง เวลานอน ให้สวด ให้ภาวนา จนกว่าจะหลับ … สามปีจะรู้สึกว่า ข้างนอกจะเปลี่ยน
ทรงอารมณ์แบบนี้มีอานิสงส์มหาศาล… เป็นบุญทุกลมหายใจเข้าออก”
หลวงปู่ดู่ได้แนะเคล็ดในการบวชจิตไว้ว่า…
“ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น คำกล่าวว่า
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ให้นึกถึงว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์ของเรา
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
ให้นึกว่าเรามีพระธรรมเป็นพระกรรมวาจาจารย์
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ให้นึกว่าเรามีพระอริยสงฆ์เป็นพระอนุสาวนาจารย์
แล้วอย่าสนใจขันธ์ ๕ หรือร่างกายเรานี้ … ให้สำรวมจิตให้ดี มีความยินดีในการบวช
ชายก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุ หญิงก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุณี
อย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมาก … จัดเป็นเนกขัมมบารมีขั้นอุกฤษฏ์ทีเดียว”