วิเคราะห์ “นรก” กับ “สวรรค์” ถ้าไม่มีศาสนาแล้วจะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ศาสนาไหน?
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาภายใต้ร่มเงาของศาสนา…ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ก็คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับแนวความคิดของคำว่า นรกและ สวรรค์แม้ว่า นรก-สวรรค์ ในนิยามของแต่ละศาสนาจะมีความแตกต่างกันไปตามหลักคำสอน แต่ความหมายหนึ่งเดียวของสองสถานที่นี้ที่ทุกศาสนาใช้ร่วมกันก็คือ…
นรกคือที่ลงทัณฑ์คนชั่ว และ สวรรค์คือที่พำนักของคนดี
ในขณะที่เรื่องชีวิตหลังความตายยังคงเป็นที่ถกเถียงว่ามีจริงหรือไม่ ภายหลังความตายนั้น เราจะมีชีวิตอันเป็นนิรันดรในอ้อมแขนของพระเจ้า หรือเราจะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเกิดในภพภูมิต่างๆเพื่อชดใช้กรรมจนกว่าจะสิ้นอายุขัยและเข้าสู่นิพพานนั้นก็ยังคงเป็นปริศนา เพราะยังคงไม่มีใครค้นพบหรือหวนกลับมาเล่าให้ฟังได้ แต่ในวันนี้ เราจะมาวิเคราะห์กันว่า…เหตุใดจึงมีสิ่งที่เรียกว่านรก-สวรรค์ แนวความคิดนั้นมาจากไหน และเป็นไปได้อย่างไรที่ทุกศาสนาที่มีแนวคำสอนแตกต่างกันไปนั้นกลับมีแนวความคิดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายที่แบ่งเป็นสถานที่สำหรับคนชั่วและคนดีได้เหมือนๆกันเช่นนี้
“นรก-สวรรค์” บทลงทัณฑ์และรางวัลของกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดของโลก
การจะทำความรู้จักแนวความคิด นรก-สวรรค์ นั้น เราจะต้องทำความเข้าใจ “ศาสนา” เสียก่อน ในแง่มุมของนักวิชาการยุคใหม่นั้น ศาสนามิใช่เพียงแต่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่เป็น กฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดของโลกบทบัญญัติข้อห้ามต่างๆนั้นถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อ “รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง”
ไตรภูมิพระร่วงวรรณกรรมทางศาสนาพุทธที่นิพนธ์โดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย เป็นหนังสือที่เป็นที่ยอมรับว่าเก่าแก่ที่สุดที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับนรก-สวรรค์ และโลกมนุษย์เอาไว้ (ไตรภูมิ ? แปลตรงตัวว่า 3 ภพภูมิ) ก็ถูกบัญญัติขึ้นในยุคที่มีการขยายจำนวนของประชากรชาวสุโขทัย และทำให้เกิดความยากที่จะปกครองบ้านเมืองโดยสันติ ปราศจากข้อพิพาทต่างๆอันมีบ่อเกิดจากความเห็นแก่ตัวพื้นฐานของมนุษย์ เช่นการลักทรัพย์ การเข่นฆ่ากัน ดังนั้น การเผยแพร่ความรู้ทางศาสนาในเรื่องบทบัญญัติข้อห้ามที่จะสามารถทำให้ผู้คนรู้สึก “เกรงกลัวต่อบาปกรรม” ได้ จึงเป็นวิธีที่ชนชั้นปกครองสมัยก่อนใช้แทนกฎหมาย โดยการบัญญัติบทลงโทษที่น่าสยดสยองในนรก และผลตอบแทนที่ดีสำหรับผู้ประพฤติตนดีอยู่ในศีลธรรมบนสวรรค์
ไม่ใช่เพียงแต่ศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ทั้งศาสนาคริสต์และอิสลามอันเป็นศาสนาเอกของโลกต่างก็มีพื้นฐานมาจากการบัญญัติรวบรวมความเชื่อเพื่อจะ “ควบคุมความประพฤติ” ผู้คนให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม เพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทเบาะแว้งกัน เพื่อปกป้องคนในสังคมให้ปลอดภัย และข้อห้ามเหล่านี้นั่นเอง ในภายหลังเมื่อเกิดระบอบ “รัฐชาติ” ขึ้นมาก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็น “กฎหมาย”ยุคปัจจุบันที่มีสถานะความเป็นกลางทางศาสนาในที่สุด และกระทั่งยุคปัจจุบันนี้ รัฐบาลบางรัฐก็ยังคงใช้กฎหมายที่เป็นบทบัญญัติจากศาสนาอยู่ อันจะเห็นได้จากรัฐอิสลามบางรัฐยังคงใช้กฎหมาย “ชะรีอะห์” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามโดยตรง
“ไม่นับถือศาสนา” เทรนด์ใหม่ของโลก?
ในยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า เมื่อมนุษย์ศึกษาหาความรู้มากขึ้นและเอาชนะธรรมชาติได้มากขึ้น แนวความคิดประเภท “ไม่นับถือศาสนา” และ แนวความคิด “มนุษย์นิยม” อันเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์โดยไม่พึ่งพาความเชื่อ เทพเจ้า หรือศาสนา ก็กำลังค่อยๆกลายเป็นที่นิยมและกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในฐานะสิทธิมนุษยชน
คำว่า”เอทีส ? Atheist” ที่แปลตรงตัวว่า “ไม่มีพระเจ้า” นั้นกลายเป็นคำที่ผู้ไม่ประสงค์จะนับถือศาสนาใช้เรียกตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีความคิดในแนวของเอทีสนั้นมักจะเป็นผู้ที่มีความคิดประเภทหัวก้าวหน้า เชื่อในวิทยาศาสตร์ วิทยาการ การเรียนรู้ของมนุษย์และอาจไม่เชื่อว่ามีพลังอำนาจจากเบื้องบนใดที่เหนือกว่ามนุษย์คอยควบคุมความเป็นไปของโลก ซึ่งเริ่มจะกลายเป็นเรื่องปกติในโลกยุคปัจจุบันที่การศึกษาและวิทยาการก้าวหน้าจนทุกสิ่งแทบจะเป็นจริงได้ด้วยมือของมนุษย์
อย่างไรก็ดี ยังมีเอทีสหรือผู้ไม่นับถือศาสนาบางกลุ่มที่ใช้ “ความไม่เชื่อ” ของพวกเขาในการโจมตีกลุ่มผู้ที่มีศรัทธาหรือผู้ที่มีความเชื่อในศาสนา รวมไปถึงการล้อเลียน และการดูถูก ซึ่งเป็นความไม่บังควรและไม่เหมาะสม เพราะสิทธิในความเชื่อทางศาสนานั้นก็เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นจึงไม่ควรมีการเหยียดหยาม ดูหมิ่น หรือกระทั่งแสดงออกใดใดอันเป็นสิ่งที่เบียดบังสิทธิของผู้อื่นในการนับถือศาสนาเช่นกัน
ไม่นับถือศาสนาจะตกนรกไหม?
สำหรับชาวเอทีสหรือผู้ไม่มีศาสนานั้น ส่วนใหญ่มักเชื่อว่าการตายคือการดับสูญสลายไปของร่างกายตามธรรมชาติ เหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกชัตดาวน์ ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ มีแต่ปัจจุบันและชาตินี้เท่านั้น ดังนั้นพวกเขาจึงเชื่อว่าไม่มีชีวิตหลังความตาย…ซึ่งในเมื่อความเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าชีวิตหลังความตายและนรก-สวรรค์ มีจริงหรือไม่ ก็เป็นไปได้ยากที่จะฟันธงว่าผู้ไม่นับถือศาสนาจะต้องตกนรกจริงๆหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การไม่นับถือศาสนาไม่ได้แปลว่าไม่ใช่คนดี เพราะผู้ไม่นับถือศาสนาเองก็อาจมีการยึดหลักมนุษย์นิยม เช่น เชื่อในความดีของมนุษย์ และความเมตตาต่อกัน ดั่งเช่นคำพูดของท่าน “ดาไล ลามะ” ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตที่เคยกล่าวไว้ว่า”My religion is simple, my religion is kindness (ศาสนาของฉันคือความเมตตา)”
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใด เชื่อในเรื่องนรก-สวรรค์หรือไม่ สิ่งที่ดีที่สุดในการเกิดเป็นมนุษย์ก็คือการหมั่นทำความดี ใช้ชีวิตอย่างมีเมตตา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะเป็นเกราะคุ้มภัยให้แก่ตัวคุณให้มีความสุขและปลอดภัย เป็นที่รักใคร่แก่ผู้คนทั่วไป ไม่ว่านรก-สวรรค์จะมีจริงหรือไม่ก็ตาม ไม่ต้องรอเห็นผลชาติหน้าแต่อย่างใด…