ทำบุญไม่กรวดน้ำ จะได้บุญไหมหนอ?
โดยหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี
วิถีของชาวพุทธเรานั้น เป็นวิถีของผู้รักสงบ การให้ทาน ก็เป็นวิถีอย่างหนึ่งที่ สอนให้เรารู้จักเสียสละ เอิ้อเฟื้อเผื่อแผ่รู้จักแบ่งปัน เมตตาซึ่งกันและกัน แต่ถ้าเราเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่มีเมตตาต่อผู้อื่น ความเสียสละก็จะเกิดกับเราไม่ได้ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมพุทธศาสนาถึงสอนให้เรารู้จักการให้(ทาน) เมื่อการให้เกิดขึ้น บุญกุศลก็ย่อมขึ้นตามมา ก็จะมีการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เราก็จะมีการหยาดน้ำ หรือ กรวดน้ำแล้วแต่บางแห่งจะเรียกกัน จึงมีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า
“ถ้าเราทำบุญแล้วเราไม่ได้กรวดน้ำ เราจะบุญที่เราทำหรือไม่” มาหาคำตอบกันดีกว่า
การกรวดน้ำ เป็นเรื่องของศาสนพิธี เป็นกุศโลบาย เพื่อให้จิตของเราไม่วอกแวก ให้จิตใจเรามีสมาธิเวลาที่จะอุทิศบุญกุศลให้กับผู้อื่น ถ้าจะถามคนส่วนใหญ่ด้วยคำถามเดียวกันนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ก็จะเหมือนกัน คือ “ไม่ได้บุญ” แต่ความเป็นจริงได้หรือไม่
ประเพณีการกรวดน้ำนี้เป็น ของศาสนาพราหมณ์ เวลาที่ทำบุญเสร็จ ผู้ให้ก็จะนำน้ำมาเทใส่มือผู้รับ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผลบุญนั้นได้สำเร็จแก่ผู้ให้และผู้รับอันเกิดจากทานที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนศาสนาพุทธของเรานั้นได้นำมาใช้เพื่อเป็นกุศโลบายข้างต้น เพราะบางคนไม่มีสมาธิจิตในการอุทิศบุญกุศล
จึงใช้น้ำมาเป็นสื่อ ใช้ดินมาเป็นพยาน หมายความว่าอย่างไร?
เวลาทำบุญเสร็จ พระก็จะขึ้น ยะถา วาริวะหาฯ เราก็เริ่มหยาดน้ำ ขณะที่หยาดน้ำเราจะอุทิศผลบุญให้ใครเราก็อุทิศไปกับสายน้ำโดยใช้น้ำเป็นสื่อ พอพระกล่าวถึงจันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถาฯ เราก็เทน้ำให้หมด พอพระขึ้น สัพพีติโย วิวัชชันตุ ฯ เราก็พนมมือไว้ที่อกตั้งใจรับพรจนกระทั่งจบ
ถามว่า เวลาที่พระให้พรเสร็จ เราเอาน้ำที่เรากรวดนั้นไปไหน? ส่วนใหญ่จะตอบว่า “ไปรดต้นไม้”
จริงๆ แล้วเขาให้เอาไปรดพื้นปฐพี คือ พื้นดิน เพื่ออะไร? ก็เพื่อให้พระแม่ธรณีเป็นพยานในบุญกุศลที่เราได้ทำ เวลาที่เราเอาน้ำไปรดที่พื้นดินเราก็จะต้องอธิษฐานว่า “ขอพระแม่ธรณีจงเป็นพยานในบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ทำในครั้งนี้” ไม่ใช่รดน้ำไปเฉยๆ
พระเดชหลวงพ่อจรัญฯ ได้กล่าวไว้ว่า “ยะถาให้ผี สัพพีให้คน” นั่นก็หมายความว่า เวลาที่พระให้พรนั้นมีความหมายดังนี้
ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วได้ฉันนี้ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ ขออิฐผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่ จันโท ปัณณะระโสยะถา เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ มะณิ โชติระโส ยะถา เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดีฯ (ยะถาคือการอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว)
สัพพีติโย วิวัชชันตุ ความจัญไรทั้งปวงของท่านจงบำราศไป สัพพะโรโค วินัสสะตุ โรคทั้งปวงของท่านจงหาย มา เต ภะวัตวันตะราโย อันตรายทั้งปวงจงอย่ามีแก่ท่าน สุขี ทีฆายุโก ภะวะ ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุขมีอายุยืน อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลังฯ พรสี่ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติไหว้กราบ มีปกติอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิจ (สัพพีคือการให้พรกับคนที่รับพรอยู่ข้างหน้า)
ทีนี้ถ้าเกิดว่าเราไม่มีน้ำที่จะให้กรวด เราจะทำยังไง? เราก็กำหนดไปที่หน้าผาก ทำใจให้เป็นสมาธิ เป็นกุศลจิต ต้องการให้ส่วนบุญกุศลนี้แก่ใครเราก็ตั้งใจอุทิศออกไป ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ใครก็ว่าไป ไม่จำเป็นต้องมีน้ำก็ได้ เพราะความสำคัญในการอุทิศส่วนบุญกุศลอยู่ที่ ความตั้งใจ และกุศลเจตนา
ดังพุทธภาษิตที่ว่า “เจตนาหัง ภิกขะเว กัมมัง วะทามิ” แปลว่า “เจตนาเป็นตัวกรรม”
มีเรื่องเล่าให้ฟังจะขอเล่าโดยย่อ ในครั้งพุทธกาล มีพราหมณ์คนหนึ่ง ได้ทราบว่าพระพุทธองค์จะทรงเสด็จมาโปรดในเมือง พราหมณ์คนนั้นจึงตั้งใจจะไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ขณะที่เขาเดินทางอยู่นั้นปรากฏว่า ถูกวัวขวิดตาย เมื่อตายไปก็ได้ไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ด้วยกุศลเจตนาที่จะไปฟังธรรมกับพระพุทธองค์ ยังไม่ทำก็ยังได้บุญแล้ว? เห็นมั๊ย ไม่ทันได้กรวดน้ำด้วยซ้ำ