ทำไมพระต้อง ตีระฆัง ความเป็นมาและความหมายของการตีระฆังในพระพุทธศาสนา
ทำไมพระต้อง ตีระฆัง แล้วระฆังนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อกิจวัตรของสงฆ์ ซีเคร็ตจึงรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้ เพื่อให้ความรู้ ให้ทราบถึงบทบาทความสำคัญของระฆังวัด
ระฆังกับวัดในพระไตรปิฎก
การตีวัตถุเพื่อบอกเวลาของพระสงฆ์มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยใช้กังสดาลตีเพื่อเตือนพระสงฆ์ว่าถึงเวลาบิณฑบาตแล้ว ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ปรากฏคำว่า “กังสดาล” ในโกณฑธานเถรวัตถุ ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบการบรรลุธรรมเสมือนกังสดาลที่ตัดขอบปากออกแล้ว แสดงให้เห็นถึงว่า สังคมสงฆ์มีความเกี่ยวข้องกับกังสดาล ซึ่งเป็นแผ่นโลหะทองเหลืองมีลักษณะเป็นวงเดือน
ระฆังกับวัดในอรรถกถา
การบอกเวลาของพระสงฆ์ด้วยระฆัง มีปรากฏอย่างชัดเจนในอรรถกถา คัมภีร์ที่พระพุทธโฆษาจารย์ปริวรรตจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี เพื่อเป็นการอนุรักษ์คัมภีร์อรรถกถาที่สูญหายไปจากอินเดีย ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาเป็นคัมภีร์ที่พระโบราณาจารย์แต่งขึ้นเพื่ออธิบายและขยายความพระไตรปิฎก
ในอรรถกถาปรากฏการตีระฆังของพระสงฆ์ไว้หลายแห่ง เช่น การแบ่งสิ่งของต้องตีระฆังเพื่อบอกให้พระสงฆ์มารับ ในอรรถกถาวินีตวัตถุ อุทานคาถา เรื่องช่างย้อม ๕ เรื่อง การแจ้งให้พระสงฆ์มารวมตัวกันเพื่อบูรณะศาสนสถาน ในอรรถกถาสัมพหุลสูตร การแจ้งพระสงฆ์เพื่อให้ทราบว่าถึงเวลาเดินจงกรม ในอรรถกถาขัชชนิยสูตร เป็นต้น ซึ่งบทบาทของระฆังในอรรถกถาส่วนมากเป็นเครื่องเตือนหรือบอกให้พระสงฆ์มารวมตัว เพื่อทำกิจวัตรของสงฆ์ตามเวลาที่สมควร
ความหมายของการตีระฆัง
การตีระฆังในความหมายทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สัญญาณชัยชนะกิเลส ที่เกิดขึ้นจากการสวดมนต์
การตีระฆังของพระสงฆ์กับวิถีสังคมพุทธ
การตีระฆังของพระสงฆ์มีคุณค่าต่อวิถีพุทธในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต เตือนให้ญาติโยมทราบถึงช่วงเวลาการทำกิจวัตรของสงฆ์ เช่น ตอนเช้าตีระฆังบอกให้พระสงฆ์ออกบิณฑบาต โยมได้ยินก็เริ่มเตรียมของใส่บาตรรอ หรือพระสงฆ์รวมตัวทำวัตรเช้า ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ใกล้วัดทั้งอุบาสกและอุบาสิกาที่ชราอยากทำบุญ ก็เข้าร่วมสวดทำวัตรกับพระด้วย หรือตีระฆังตอนเย็น พระสงฆ์เตรียมทำวัตรเย็น และจงกรม โยมก็จะร่วมอนุโมทนาหรือมีใจเป็นกุศลว่าขณะนี้พุทธบุตรกำลังประกอบกิจวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ ไม่เพียงเท่านั้นการตีระฆังยังเป็นการช่วยเหลือญาติโยม คือแจ้งให้ทราบว่าตอนนี้มีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ โจรปล้น เป็นต้น
การตีระฆังในช่วงเข้าพรรษา
ในช่วงเข้าพรรษาจะตีระฆังในตอนเช้ามืด เวลาประมาณ 04.00-04.30 น. เพื่อปลุกพระสงฆ์ให้ตื่นมาทำวัตรสวดมนต์เช้าและตีอีกครั้งในเวลา 17.30 น. – 18.00 น. เพื่อเตือนให้พระสงฆ์ทำวัตรเย็น แต่โดยปกติทางวัดจะตีระฆังในช่วงเวลา 8.00 น.และ 16.00 น. ของทุกวัน
การตีระฆังกับความเชื่อชาวบ้าน
ด้วยวัดเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ความเชื่อแต่โบราณในเรื่องสุริยุปราคา พระสงฆ์จะตีระฆังเสียงดัง เพื่อเป็นการขับไล่พระราหู จะได้คายพระอาทิตย์ออกมา
ความสำคัญของระฆังที่เปลี่ยนไป
ในยุคปัจจุบัน ทุกบ้านต่างใช้นาฬิกาแบบฝรั่งดูเวลา และใช้ระบบเวลาสากล ระฆังที่ชาวบ้านอิงอาศัยเพื่อรู้เวลาไม่ได้รับความสำคัญเหมือนแต่ก่อน และเรื่องสุริยุปราคาถูกอธิบายด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ พระราหูที่คอยกลืนพระจันทร์และพระอาทิตย์ กลายเป็นเพียงเงาของโลกบดบังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ระฆังที่เคยมีอาณาเขตบทบาททั้งทางโลกและทางธรรม ในตอนนี้มีบทบาทเพียงทางธรรม คือเตือนให้พระสงฆ์ประกอบกิจตามคำสอนของพระพุทธเจ้า