วันนี้ GangBeauty จะพาแฟนๆทุกคน ไปรู้จักกับ “ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา” ผู้ที่มีศีลาจารวัตรอันงดงามและเคร่งครัด พร้อมทั้งเป็นผู้นำสร้างทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ หรือส่วนราชการเลย
นอกจากนี้! ยังมีสิ่งที่น่าสนใจของ “ท่านครูบาศรีวิชัย” คือ คำทำนายบ้านเมืองในภายภาคหน้า ซึ่งก็คือปัจจุบัน ได้ตรงอย่างน่าขนลุก ความว่า ( ภาษากำเมือง )
“ต่อไปเบื้องหน้า…วัดจะหมอง มองจะห่าง หนตางจะเลี่ยน โฮงเฮียนจะดี คนบ่มีจะได้กิ๋นข้าว คนเฒ่าใส่เขี้ยวขาว แม่ฮ้างนางสาวจะนุ่งเตี่ยว ป่าเฮ่วม่วนเหมือนปอย ภูดอยจะล้าน คนขี้คร้านจะได้กิ๋นดี คนบ่ดีหนีไปนอนสาด ตูบกาดเต๋มบ้านเต๋มเมือง น้ำเหมืองเอาน้ำแม่ งัวควายบ่แพร่ คนเฒ่าคนแก่บ่มีไผแอ่วหา ปู๋ปล๋าหนีน้ำ เอาน้ำตกกับถ้ำเป๋นตี้แอ่วตี้จุม คนจักชุมนุมกั๋นเป๋นกลุ่มเป๋นก้อน บ้านเมืองจะเดือดฮ้อน ละอ่อนสอนบ่ฟังกำ คนใจ๋ดำมีทั่วประเทศ คนจักเหมือนผีเหมือนเผต ตึงแม่ญิงป้อจายผมมีบ่เกล้า ข้าวมีบ่ต๋ำ หนตางดีบ่มีคนไต่ ฮอยคนเหมือนฮอยงู คนจักซานบนดินมาหนึ่งศอก น้ำบ่อออกอยู่บนเฮือน เครือเขาเลื่อนบนอากาศ คนฉลาดแป๋งควายเหล็กมาขาย คนมีหูติ๊บต๋าติ๊บ ดำดินบินบนได้ จักมีในเบื้องหน้าแต้แหล่..ปี้น้องตังหลายเหย..ฯ”
โดยแปลเป็นภาษากลางได้ว่า
” ในอนาคต วัดวาอารามจะไม่ค่อยมีผู้คนเข้าไปทำบุญหรือถือศีลฟังธรรม ครกมองตำข้าวก็จะไม่มีคนใช้ตำข้าวอีก ถนนหนทางก็จะราบเรียบใช้เดินทางไปมาอย่างสะดวกสบาย โรงเรียนก็จะใหญ่โต คนยากจนก็จะมีข้าวกิน คนชราก็จะใส่ฟันปลอมเต็มปาก แม่หม้ายนางสาวก็จะละทิ้งผ้าถุงหันไปสวมใส่กางเกงกันหมด ป่าช้าก็จะครึกครื้นด้วยเสียงเพลง (เพลงแห่ศพ..บางแห่งมีวงดนตรีแสดงสดๆ ขณะเผาศพ หรือเปิดเพลงโปรดของผู้ตาย..) ภูเขาก็ปราศจากต้นไม้ คนเกียจคร้านก็มีอยู่มีกินอย่างดี คนชั่วช้าก็ล้มตายไป มีร้านค้าขายอยู่ทั่วทุกมุมเมือง น้ำคลองซอยเล็กก็อาศัยน้ำจากแม่น้ำใหญ่ วัวควายก็ค่อยๆ สูญพันธุ์ไป คนแก่คนเฒ่าก็ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ปูปลาก็ลดหายไปจากลำน้ำ ผู้คนต่างชอบท่่องเที่ยวไปตามถ้ำและน้ำตก ผู้คนมีร่วมชุมนุมประท้วงกันอย่างมากมาย บ้านเมืองจะเกิดความระส่ำระสายวุ่นวาย เด็กๆ ลูกหลานก็จะดื้อรั้นไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้คนไร้คุณธรรมน้ำใจก็จะมีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง ผู้คนก็จะเป็นเสมือนพวกภูตผีและพวกเปรตที่มีแต่ความละโมบโลภมาก ทั้งชายหญิงต่างไว้ผมยาวประบ่า ข้าวที่มีอยู่ก็ไม่ใช้ครกตำ ถนนหนทางดีแต่คนก็ไม่ใช้เท้าเดินกัน ร่องรอยของผู้คนก็คล้ายรอยงู(ล้อรถยนต์) ผู้คนก็จะเหาะเหินล่องลอยอยู่เหนือพื้นดิน ในบ้านเรือนก็มีก็อกประปามีน้ำกินน้ำใช้อย่างสะดวก สายไฟฟ้าสายโทรศัพท์มีโยงอยู่ทั่วไปในชุมชน คนที่มีความรู้ก็ผลิตรถแทรกเตอร์มาใช้ทำไร่ไถนา ผู้คนต่างก็มีหูทิพย์ตาทิพย์ (โทรศัพท์-โทรทัศน์-อินเตอร์เน็ต) ผู้คนมีพาหนะทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดิน-ลอยฟ้า หรือเครื่องบิน สิ่งเหล่านี้จะบังเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอนนะ พี่น้องทั้งหลาย…”
หมายเหตุ : ในบางประโยคนั้น เป็นปริศนาธรรมที่ลึกซึ้ง ที่จะต้องตีปริศนาและขบคิด ค้นหาความหมายที่ถูกต้องครับ ถ้าท่านใดเป็นผู้รู้มาช่วยแปลด้วยจะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ
ประวัติของครูบาศรีวิชัย
นายอินท์เฟือน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกันดาร มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ 17 ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “ครูบาขัตติยะ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครูบาแฅ่งแฅะ” (หมายถึง ขาพิการ เดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา
เด็กชายอินท์เฟือน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ 18 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ 3 ปีต่อมา (พ.ศ. 2442) ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า “สิริวิชโยภิกฺขุ” มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย หลังอุปสมบท
เมื่ออุปสมบทแล้ว พระศรีวิชัย สิริวิชโยภิกขุ ได้กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปาง 1 พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำ และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน
ครูบาศรีวิชัย ได้รับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแต เป็นเวลา 1 พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. 2444 อายุได้ 24 ปี พรรษาที่ 4 ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัย จึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ 5 ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน
ครูบาศรีวิชัย เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด ท่านงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทย บางครั้งก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดี
คำสอนครูบาศรีวิชัย
ครูบาศรีวิชัย มีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่าน อธิษฐานไว้ว่า “ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว” และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายของคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง
ปัจจุบันท่านครูบาศรีวิชัยยังคงเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเขาเผ่าต่างๆ โดยจะเห็นได้จากการที่ชาวเขากลุ่มใหญ่ในปัจจุบัน ก็ยังคงไม่กินเนื้อสัตว์ตามคำสอนของท่านครูบาศรีวิชัยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ บรรพบุรุษ อีกทั้งท่านยังเป็นพระสงฆ์องค์แรกๆ ที่ทำให้ชาวเขาเลิกนับถือผีสางอีกด้วย