แนะนำ ความเป็นมา พระประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน พร้อมคาถาบูชา
ตอนรับสู่ทางสายบุญเพราะวันนี้ GangBeauty มีความเป็นมาของพระประจำวันเกิดมาฝากค่ะ เวลาเราไปทำบุญแน่นอนว่าเราต้องได้ไปไหว้พระประจำวันเกิดกันอยู่แล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่หลาย ๆ คนอาจยังไม่ทราบกันดีว่าพระประจำวันเกิดมาจากไหน ทำไมถึงประจำวันนั่น ๆ โดยพระประจำวันเกิดจะมี 8 ปางด้วยกันค่ะ คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ และมีพุธกลางคืนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ปาง แต่ละปางก็จะมีลักษณะท่าางที่แตกต่างกันออกไป จะเป็นแบบไหนบ้าง ตามไปดูกันเลย
พระประจำวันเกิด วันอาทิตย์
สำหรับวันอาทิตย์พระประจำวันเกิดคือ ปางถวายเนตร จะมีลักษณะอยู่ในอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้ง 2 ข้าง พระหัตถ์ประสานไว้อยู่หน้าตัก พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถซ้าย ความเป็นมานั่น ปางถวายเนตร มาจากเมื่อครั้งพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข หรือก็คือความสุขอันเกิดจากความสงบ อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นได้เสด็จไปประทับยืน ณ กลางแจ้งทางทิศอีสานของต้นศรีมหาโพธิ์ โดยสถานที่ยินประทับนี้เรียกว่า “อนิมิสเจดีย์” และได้ และทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์ดังกล่าวโดยไม่กระพริบพระเนตรเลยเป็นเวลา 7 วัน ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นนิมิตมหามงคลจนได้รับการขนานนามว่า “อนิมิสเจดีย์” พุทธศาสนิกชนเลยสร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นเรียกว่า “ปางถวายเนตร”ค่ะ
คาถาประจําวันเกิด วันอาทิตย์ (บทโมรปริตร)
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะคุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะ ธัมเม, เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พึทธานัง นะมัตถุ โพธิยา, นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมังโส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ
พระประจำวันเกิด วันจันทร์
สำหรับปางห้ามญาติ หรือปางห้ามสมุทร เป็นพระประจำวันจันทร์ มีลักษณะอยู่ในพระอริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม เป็นปางเดียวกันกับปางห้ามสมุทร ซึ่งปางห้ามญาตินั้น มาจากเมื่องครั้งพระญาติฝ่ายพุทธบิดา กรุงกบิลพัสดุ์ และพระญาติฝ่ายพุทธมารดา กรุงเทวทหะ ได้ทะเลาะกันเรื่องการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี เพื่อจะนำน้ำไปทำการเพาะปลูก เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงเตรียมที่จะเปิดศึกกัน จนพระพุทธองค์ได้ไปเจรจาห้ามทัพเพราะไม่อยากให้ญาติต่อสู้กันเอง
ส่วนปางห้ามสมุทร มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์ ได้เสด็จไปโปรดพวกชฎิล (นักบวชประเภทหนึ่ง เกล้าผมมุ่นเป็นมวยสูงขึ้น มักถือลัทธิบูชาไฟ) 3 พี่น้อง ได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ, นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ เพราะ 3 พี่น้องนั้นตั้งตนเป็นใหญ่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา โดยมีบริวารอีก 1,000 คน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธปาฏิหารย์เพื่อทำลายทิฐิมานะของชฎิลทั้งหลาย ทั้งการห้ามฝน ห้ามลม ห้ามพายุ และห้ามน้ำไม่ให้ท่วมบริเวณที่ประทับ เมื่อพวกชฎิลเห็นดังนั้น ก็รู้สึกเกิดความอัศจรรย์เป็นอย่างมาก จึงยอมบวชเป็นพุทธสาวก
คาถาประจําวันเกิด วันจันทร์ (บทอภัยปริตร)
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะโย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะโย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง ธัมมานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะโย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
พระประจำวันเกิด วันอังคาร
สำหรับพระประจำวันอังคารคือ ปางไสยาสน์ อยู่ในพระอริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้) มาจากตอนที่พระพุทธองค์รับสั่งให้พระจุนทะเถระปูอาสนะลงระหว่างต้นรังคู่หนึ่งแล้วทรงบรรทมแบบสีหไสยาสน์ หรือการนอนแบบราชสีห์ และตั้งพระทัยแล้วว่าจะไม่เสด็จลุกขึ้นมาอีก ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ค่ะ
คาถาประจําวันเกิด วันอังคาร (บทกรณียเมตตสูตร)
ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิก เขปิ ปาณิโน ปะติฏฐะมะธิ คัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิ สัมภะวา คะณะนานะ จะ มุตตานัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
พระประจำวันเกิด วันพุธ
สำหรับพระประจำวันพุธได้แก่ ปางอุ้มบาตร อยู่ในพระอริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอว มาจากเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ต่อหน้าพระประยูรญาติทั้งหลายด้วยการเหาะขึ้นไปบนอากาศ เพื่อให้พระญาติผู้ใหญ่ได้เห็นและลดทิฐิถวายบังคมแล้วจึงได้ตรัสเทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดก เมื่อเทศน์เสร็จ พระญาติต่างก็แยกย้ายกันกลับและไม่มีใครทูลอาราธนาฉันพระกระยาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น เพราะเข้าใจผิดคิดว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นพระราชโอรสและพระสงฆ์เป็นศิษย์ จึงต้องฉันภัตตาหารที่มีการจัดเตรียมไว้ให้เองในพระราชนิเวศน์ แต่พระพุทธองค์กลับทรงพาบรรดาพระภิกษุสงฆ์สาวกเสด็จจาริกไปโปรดเวไนยสัตว์ (ผู้ที่พึงสั่งสอนได้) ตามถนนหลวงในเมือง ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนในกรุงกบิลพัสดุ์ได้มีโอกาสชมพระพุทธจริยาวัตรทรงอุ้มบาตรโปรดสัตว์ จึงต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญกันอย่างสุดซึ้ง และสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นเรียกว่า “ปางอุ้มบาตร”
คาถาประจําวันเกิด วันพุธ (กลางวัน) (บทขัดขันธปริตร-ย่อ)
สัพพาสีวะชาตีนัง ทิพพะมันตาทะคัง วิยะ ยันนาเสติ วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณิณัง สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะเห ฯ
พระประจำวันเกิด วันพุธกลางคืน
สำหรับพระประจำวันพุธกลางคืน คือ ปางป่าเลไลยก์ อยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระขนุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงาย นิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย มาจากในขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในเมืองโกสัมพี พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากเกิดแตกความสามัคคีกันและไม่ยอมอยู่ในพุทธโอวาท พระองค์จึงเสด็จจาริกไปอาศัยอยู่ในป่าปาลิไลยกะตามลำพัง โดยมี “ปาลิไลยกะ” พญาช้างเชือกหนึ่งที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์มาคอยปฏิบัติบำรุงและคุ้มครองไม่ให้สัตว์ร้ายเข้ามากล้ำกราย ทำให้พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ในป่านั้นอย่างสงบสุข เมื่อพญาลิงเห็นพญาช้างทำงานปรนนิบัติพระพุทธองค์อย่างเคารพนับถือก็เกิดกุศลจิตทำตามบ้าง ต่อมาชาวบ้านที่ตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ไม่พบ พอทราบเหตุก็ต่างพากันตำหนิติเตียนและไม่ทำบุญกับพระภิกษุเหล่านั้น พระภิกษุเหล่านั้นจึงเกิดความสำนึกผิดและไปทูลเชิญพระพุทธองค์เสด็จกลับมา จากเหตุการณ์นี้ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ขึ้น
คาถาประจําวันเกิด วันพุธ (กลางคืน) (บทขันธปริตร)
สัพพาสีวะชาตีนัง ทิพพะมันตาทะคัง วิยะ ยันนาเสติ วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณิณัง สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะเส ฯ
พระประจำวันเกิด วันพฤหัสบดี
สำหรับพระประจำวันพฤหัสบดี คือ ปางสมาธิ อยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย มาจากเมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะหรือพระโพธิสัตว์ประทับในท่าขัดสมาธิใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ใกล้กับฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อตั้งพระทัยเจริญสมาธิในญาณขั้นต่าง ๆ จนได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณและตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หรือวันวิสาขบูชาค่ะ
คาถาประจําวันเกิด วันพฤหัสบดี (บทวัฏฏกปริตร)
อัตถิโลเก สีละคุโณ สัจจังโสเจยยะ นุททะยา เตนะ สัจเจนะ กาหามิ สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง อาวัชชิตวา ธัมมัพะลัง สะริตวา ปุพพะเก ชิเน สัจจะพะละมะสายะ สัจจะกิริยะมะกาสะหัง สันติ ปักขา อะปัตตะนา สันติ ปาทา อะวัญจะนา มาตาปิตา จะนิกขันตา ชาตะเวทะ ปฏิิกกะมะ สะหะ สัจเจกะเต มัยหัง มะหาปัชชะลิโต สิขี วัชเชสิ โสฬะสะ กะรีสานิ อุทะกัง ปัตวา ยะถา สิขี สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ เอสา เม สัจจะปาระมีติ
พระประจำวันเกิด วันศุกร์
สำหรับพระประจำวันศุกร์ ได้แก่ ปางรำพึง อยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้ง 2 ยกประสานขึ้นที่อก โดยเป็นพระหัตถ์ขวา ทับพระหัตถ์ซ้าย มาจากภายหลังการตรัสรู้ได้ไม่นาน ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไทรก็ทรงรำพึงพิจารณาถึงธรรมที่ทรงได้ตรัสรู้ว่าเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งและยากเกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจได้ จึงทรงเกิดความท้อพระทัยและคิดที่จะไม่สั่งสอนชาวโลกแล้ว เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมทรงทราบก็เกิดความร้อนใจและได้มากราบทูลอาราธนาเพื่อทรงแสดงธรรมว่าในโลกนี้ยังมีบุคคลที่มีกิเลสเบาบาง พอฟังธรรมได้อยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงคิดพิจารณาแล้วก็เห็นชอบด้วย จึงได้ทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอนและพระพุทธศาสนาต่อไปจนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้วยเหตุนี้เองทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นและเรียกว่า “ปางรำพึง”
คาถาประจําวันเกิด วันศุกร์ (บทอาฎานาฎยาปริตร)
อัปปะสันเนติ นาถัสสะ สาสะเน สาธุสัมมะเต อะมะนุสเสหิ สะทา กิพพิสะการิภิ
ปะริสานัญจะตัสสันนะ มะหิงสายะจะคุตติยา ยันเทเสสิ มะหาวีโร ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
พระประจำวันเกิด วันเสาร์
สำหรับพระประจำวันเสาร์ ได้แก่ ปางนาคปรก อยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร มาจากเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และประทับบำเพ็ญสมาบัติเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิก ขณะนั้นเองฝนตกลงมาไม่หยุด ได้มีพญานาคราชตนหนึ่งชื่อว่า “มุจลินท์นาคราช” ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการขนดร่างเป็นวงกลม 7 รอบแล้วแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้าไว้คล้ายกับพระเศวตฉัตรไม่ให้ลมและฝนตกลงมาต้องพระวรกาย รวมไปถึงป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามากล้ำกรายอีกด้วย และเมื่อฝนหยุดตกจึงได้แปลงร่างเป็นมาณพ เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์
คาถาประจําวันเกิด วันเสาร์ (บทองคุลีมาลปริตร)
ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต, นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตาฯ เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ
เป็นไงบ้างคะกับความเป็นมาของพระประจำวันเกิดที่เรานำมาฝาก มีทั้งประวัติและบทสวดเลยค่ะ ลองเอาไปสวดตามกันดูนะคะ